วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562

บันทึกการเรียนครั้งที่ 5 วันที่ 4 กันยายน 2562
     
     

    วันนี้เรียนในส่วนของการเรียนเกี่ยวกับ กลุ่มศิลปะสร้างสรรค์ สาระทางวิทยาศาสตร์ ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ การดูแลรักษา ทักษะที่สำคัญในเชิงวิทยาศาสตร์ 
รายละเอียดเนื้อหาบางส่วนดังนี้

สาระทางวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็น 4 สาระ 
1 เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
2 เกี่ยวกับธรรมชาติ 
3 บุคคล  สถานที่ 
4  สิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก 

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
หมายถึงคุณลักษณะ ที่มีความจำเป็นต้องมีในตัวของผู้ที่จะต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา หรือปฏิบัติงานต่าง ๆ ซึ่งมี 13 ทักษะดังนี้
ทักษะการสังเกต
                ทักษะการสังเกต คือความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัส อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เพื่อหาข้อมูลหรือรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ โดยไม่เพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวลงไป เห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ได้ยินอย่างไร ได้กลิ่นอย่างไร หรือรสชาติเป็นอย่างไร ก็ตอบไปตามนั้น ประสาทสัมผัสมี 5 ชนิด คือ
1. ประสาทตา สังเกตได้โดยการดู เพื่อบอกรูปร่าง สัณฐาน ขนาด สี สถานะ
2. ประสาทหู สังเกตโดยการฟัง เพื่อบอกเสียงที่ได้ยินว่า เสียงดัง เสียงค่อย เสียงสูง เสียงต่ำ หรือเสียงดังอย่างไรตามที่ได้ยิน
3. ประสาทจมูก สังเกตโดยการดมกลิ่น เพื่อบอกว่ามีกลิ่นหรือไม่ หอม เหม็น ฉุน
4. ประสาทลิ้น สังเกตโดยการชิมรส เพื่อบอกว่ามีรสชาติว่า หวาน ขม เผ็ด เค็ม เปรี้ยว ฝาด แต่ในการสังเกตโดยการชิมนี้ ต้องแน่ใจว่าสิ่งนั้นไม่มีอันตรายและสะอาดเพียงพอ
5. ประสาทผิวกาย สังเกตได้โดยการสัมผัส เพื่อบอก อุณหภูมิ ความหยาบ ความละเอียด ความเรียบ ความลื่น ความเปียกชื้น ความแห้งของสิ่งนั้น
นอกจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ชนิดสังเกตโดยตรงแล้ว การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้ก็จัดว่าเป็นทักษะการสังเกตเช่นเดียวกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสี การเปลี่ยนแปลงรูปร่างสัณฐาน การเปลี่ยนแปลงขนาด การเปลี่ยนแปลงกลิ่น รส อุณหภูมิ ฯลฯ



ทักษะการวัด
                การวัดหมายถึงความสามารถในการเลือกและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทำการวัดหาปริมาณของสิ่งต่าง ๆ ออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง โดยมีหน่วยที่ใช้วัดกำกับ ตลอดจนสามารถอ่านค่าที่วัดได้ถูกต้องหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง ในการวัดจะต้องพิจารณาว่า
1. จะวัดอะไร เช่น วัดความยาวเส้นรอบรูปของลูกบอล ชั่งน้ำหนักก้อนหิน วัดอุณหภูมิของน้ำ วัดระยะเวลาที่ใช้ในการต้มน้ำ วัดปริมาตรของของเหลวในขวด วัดขนาดของมุม วัดความชื้นของอากาศ วัดแรงกดดันของอากาศ วัดแรงดันของไฟฟ้า ฯลฯ
2. จะใช้เครื่องมืออะไรวัด เช่น ใช้เชือกและไม้บรรทัดวัดเส้นรอบรูปของลูกบอล ใช้ตาชั่งสปริงชั่งน้ำหนักของก้อนหิน
3. เหตุใดจึงใช้เครื่องมือนั้น เช่นทำไมจึงเลือกใช้เชือกและไม้บรรทัดวัดเส้นรอบรูปลูกบอล จะใช้เครื่องมืออื่นได้หรือไม
่ 4. จะวัดอย่างไร เช่น เมื่อมีเชือกและไม้บรรทัดแล้วจะทำการวัดอย่างไร มีเทคนิคอย่างไร
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการวัดแต่ละครั้ง คือความเที่ยงตรง แน่นอนในการวัดและค่าที่ถูกต้อง การวัดปริมาณใด ๆ มักจะเกิดความคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ เช่นเกิดจากการอ่านค่าผิดพลาด หรือบันทึกผิด หรือเกิดจากการใช้วิธีวัดไม่ถูกต้อง วิธีแก้ความคลาดเคลื่อนทำได้โดยการวัดหลาย ๆ ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ย การที่นักเรียนจะมีทักษะในการวัด จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ เช่น ก่อนการวัดต้องศึกษาเครื่องมือ วิธีการใช้ สเกลการวัด เป็นต้น ความสามารถที่แสดงว่านักเรียนเกิดทักษะการวัด คือ
1. เลือกเครื่องมือได้เหมาะสมกับสิ่งที่จะวัด
2. บอกเหตุผลในการเลือกเครื่องมือได้
3. บอกวิธีวัดและวิธีใช้เครื่องมือวัดได้ถูกต้อง
4. ทำการวัดปริมาณต่าง ๆ ได้ถูกต้อง
5. ระบุหน่วยของตัวเลขที่ได้จากการวัดได้
การวัดปริมาณต่าง ๆ ได้ตรงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ
1. เทคนิคการวัด
2. มาตราฐานของเครื่องมือ
3. ความระมัดระวัง ความละเอียดรอบคอบ


ทักษะการจำแนก
                การจำแนก หมายถึงการจำแนกหรือการจัดจำพวกวัตถุหรือเหตุการณ์ ออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยมีเกณฑ์ในการจำแนกหรือจัดจำพวก เกณฑ์ที่ใช้อาจพิจารณาจากลักษณะที่เหมือนกัน แตกต่างกัน หรือสัมพันธ์กัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ การกำหนดเกณฑ์อาจทำได้โดย การกำหนดขึ้นเอง หรือมีผู้อื่นกำหนดให้ การจำแนกประเภทอาจทำได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การแบ่งประเภทสิ่งของ เกณฑ์ที่ใช้มักเป็น สี ขนาด รูปร่าง ลักษณะผิว วัสดุที่ใช้ทำ ราคา หรือการนำไปใช้ ส่วนพวกสิ่งที่มีชีวิตมักจะใช้เกณฑ์ ลักษณะ รูปร่าง อาหาร ที่อยู่อาศัย การสืบพันธุ์ ประโยชน์ เป็นต้น การจำแนกประเภทไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ในสาขาวิชาอื่น และในชีวิตประจำวันได้ เช่น การจัดสิ่งของภายบ้านที่ต้องแยกออกตามประโยชน์ใช้สอย เช่น ของใช้ภายในครัว ของใช้ภายในห้องน้ำ ของใช้ภายในห้องนอน หรือของใช้ในร้านค้าต่าง ๆ ห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันจะพบว่าสินค้าต่าง ๆ ที่วางขายในแต่ละส่วนนั้น จะถูกแบ่งแยกออกตามประโยชน์ใช้สอยทั้งสิ้น เช่นส่วนขายเสื้อผ้าเด็ก ส่วนขายเสื้อผ้าผู้หญิง ส่วนขายเครื่องไฟฟ้า เป็นต้น ในการจำแนกสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยให้เกิดความสะดวกในการหยิบใช้ และเป็นระเบียบสวยงาม
จุดมุ่งหมายของทักษะการจำแนก
โดยใช้เกณฑ์ที่ตนเองกำหนดขึ้น
1. แบ่งพวกสิ่งของ โดยใช้เกณฑ์ที่ผู้อื่นกำหนดให้ หรือโดยใช้เกณฑ์ที่ตนเองกำหนดขึ้น
2. เรียงลำดับสิ่งของ โดยใช้เกณฑ์ที่ผู้อื่นกำหนดให้ หรือในการแบ่งพวกสิ่งของที่ผู้อื่นจำแนกไว้แล้ว
3. บอกเกณฑ์ ในการเรียงลำดับสิ่งของที่ผู้อื่นเรียงลำดับไว้แล้ว


ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปสและสเปสกับเวลา
                ความรู้เรื่องสเปส ( SPACE ) สเปส หมายถึง ที่ว่าง สเปสของวัตถุ หมายถึง ที่ว่างที่วัตถุครองอยู่ ถ้าจะให้เห็นภาพภาพพจน์ที่ชัดเจน ขอให้ลองนึกว่า ถ้าตัวเราลงไปแช่อยู่ในน้ำซึ่งอยู่ในถังจนมิดหัว แล้วนำไปแช่เย็นจนแข็ง ตัวเราก็จะถูกฝังอยู่ในก้อนน้ำแข็งนั้น หากเรามีความสามารถพิเศษหายตัวออกจากก้อนน้ำแข็งนั้นไป ที่ว่างที่อยู่ในก้อนน้ำแข็งนั้นก็คือ สเปสของตัวเรานั่นเอง
ลักษณะของผู้ที่มีทักษะในการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส มีดังนี้
  • 1. บอกจำนวนมิติของวัตถุที่พบเห็นได้
  • 2. ชี้บ่งรูป 2 มิติ และวัตถุ 3 มิติได้
  • 3. บอกชื่อรูปและรูปทรงทางเรขาคณิตได้
  • 4. วาดรูป 2 มิติ จากวัตถุหรือรูปทรง 3 มิติได้
  • 5. บอกความสัมพันธ์ระหว่างรูป 2 มิติ กับวัตถุ 3 มิติได้ ซึ่งแบ่งเป็น
    • 5.1 บอกรูป 3 มิติที่เห็นเนื่องจากการหมุนรูป 2 มิติ
    • 5.2 บอกรูปทรงของวัตถุ ( 3 มิติ ) ที่เป็นต้นกำเนิดเงา เมื่อเห็นเงา ( 2 มิติ ) ของวัตถุ
    • 5.3 บอกเงา ( 2 มิติ ) ของวัตถุที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นวัตถุ ( 3 มิติ )
    • 5.4 บอกรูป ( 2 มิติ ) ที่เกิดจากรอยตัด เมื่อตัดวัตถุ ( 3 มิติ ) ออกเป็น 2 ส่วน
  • 6. บอกตำแหน่งหรือทิศของวัตถุได้
  • 7. บอกความสัมพันธ์ของสิ่งที่อยู่หน้ากระจกเงา และภาพที่ปรากฏในกระจกเงาได้
รูป 2 มิติ
                รูป 2 มิติ คือรูปที่มีเพียง 2 ด้าน คือ ด้านกว้าง และด้านยาว ซึ่งมีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น รูป ชื่อ รูปสามเหลี่ยม(Triangle) รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส(Square) รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า(Rectangle) รูปวงกลม(Circle) รูปวงรี รูปไฮเปอร์โบล่า(Hyperbola) รูปพาราโบล่า(Parabola) รูปห้าเหลี่ยม(Pentagon) รูปหกเหลี่ยม(Hexagon)
รูปทรง 3 มิติ
                รูปทรง 3 มิติ จะมีลักษณะต่างจากรูป 2 มิติ คือนอกจากจะมีด้านกว้างและด้านยาวแล้ว ยังมีด้านสูง หรือด้านลึก เพิ่มขึ้นมาอีก หนึ่งด้าน และจะเรียกคำนำหน้าชื่อว่า "ทรง" เช่น รูปทรง ทรงพิรามิดฐานสามเหลี่ยม, ทรงพิรามิดฐานสี่เหลี่ยม, รูปกรวย(Cone), รูปทรงกลม, รูปไข่, รูปปริซึมฐานสามเหลี่ยม, รูปปริซึมฐานสี่เหลี่ยม เป็นต้น


ทักษะการคำนวณ
ลักษณะของการคำนวณ มีดังต่อไปนี้
1. นับจำนวน
2. ใช้ตัวเลขแสดงจำนวนที่นับ
3. บอกวิธีคำนวณ
4. คิดคำนวณ
5. แสดงวิธีคิดคำนวณ
6. บอกวิธีการหาค่าเฉลี่ย
7. หาค่าเฉลี่ย
8. แสดงวิธีหาค่าเฉลี่ย


ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล
                ข้อมูล หมายถึงข้อเท็จจริงที่จะนำไปใช้ในการอ้างอิงหรือคำนวณ เราแบ่งข้อมูลตามระดับความยากง่ายในการทำความเข้าใจได้ 2 ประเภทคือ
1. ข้อมูลดิบ เป็นข้อมูลที่ทำความเข้าใจยาก ได้จากการสังเกต การวัด การจำแนก การคำนวณ ฯลฯ
2. ข้อมูลที่จัดกระทำแล้ว เป็นข้อมูลที่ทำความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งได้มาจากการนำข้อมูลดิบมาดัดแปลงใหม่นั่นเอง การดัดแปลงข้อมูลดิบให้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นดังกล่าว สามารถทำได้ 4 วิธี คือ
                2.1 หาความถี่
                2.2 จัดลำดับ
                2.3 แยกประเภท
                2.4 คำนวณหาค่าใหม่


ทักษะการสื่อความหมายข้อมูล
การสื่อความหมายข้อมูลหมายถึง การนำข้อมูลที่ได้จัดกระทำแล้วมาแสดงหรือนำเสนอในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นอีก รูปแบบใหม่ที่สามารถแสดงหรือนำเสนอมีหลายรูปแบบเช่น
1. ตาราง                2. แผนภูมิ
3. วงจร                  4. กราฟ
5. สมการ              6. บรรยาย

ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล
                การลงความเห็นจากข้อมูล หมายถึง การใช้ประสาทสัมผัส สัมผัสสิ่งของหรือเหตุการณ์ให้ได้ข้อมูลอย่างหนึ่ง แล้วเพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวลงไปให้กับข้อมูลนั้น ความคิดเห็นส่วนตัวอาจได้มาจาก ความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม หรือเหตุผลต่าง ๆ ดังนั้นการลงความเห็นจากข้อมูล จึงมีลักษณะ ดังนี้
1. อธิบายหรือสรุป เกินข้อมูลที่ได้จากการสังเกต
2. เพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวลงไป
เช่น นำใบไม้ชนิดหนึ่งที่นักเรียนไม่เคยเห็นหรือรู้จักมาก่อนให้นักเรียนสังเกต แล้วถามว่าได้ข้อมูลอะไรจากใบไม้นั้นบ้าง
-ใบไม้มีสีเขียว ( ทักษะการสังเกต )
- ใบไม้มีขน ( ทักษะการสังเกต )
- ใบไม้มีรู 2 รู ( ทักษะการสังเกต )
- ใบไม้มีกลิ่นหอม ( ทักษะการสังเกต )
- ใบไม้คล้ายใบอ้อย ( ลงความเห็นจากข้อมูล )
- ใบไม้ถูกหนอนกินเป็นรู ( ลงความเห็นจากข้อมูล )
                การลงความเห็นจากข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น เป็นการลงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งของหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เท่านั้น ไม่ได้เป็นการลงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งของและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเป็นการลงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งของหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเรียกว่าการทำนาย


ทักษะการพยากรณ์
                การพยากรณ์ หมายถึงการทำนายผล เหตุการณ์ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยข้อมูล ความสัมพันธ์ของข้อมูล หลักการ กฎ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่ทำนาย
ทักษะการตั้งสมมุติฐาน
                การตั้งสมมุติฐาน หมายถึงการทำนายผล เหตุการณ์ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ทราบ หรือไม่มีความสัมพันธ์ของข้อมูล กฎ หลักการ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่ทำนาย ดังตัวอย่าง
ข้อมูล อากาศบ่ายวันนี้อบอ้าว มีเมฆดำลอยต่ำอยู่เต็มท้องฟ้า มดดำคาบไข่ออกจากรังย้ายไปอยู่บนที่สูง
พยากรณ์ ฝนกำลังจะตก ( อาศัยประสบการณ์ หรือความรู้เดิม )
ข้อมูล นายแดงเคยกินปูเค็มมาแล้ว 6 ครั้ง เขาพบว่าภายหลังที่กินปูเค็มทุกครั้งเขาจะมีอาการท้องเสีย
พยากรณ์ ถ้านายแดงกินปูเค็มอีกเขาจะท้องเสีย ( อาศัยความสัมพันธ์ของข้อมูล )
คำถาม ถ้านายแดงกินกุ้งแช่น้ำปลา จะเกิดผลอย่างไร
จะตอบคำถามนี้ได้ต้องตั้งสมมุติฐาน ( ทำนายอนาคต โดยไม่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ของข้อมูล กฎ หลักการ หรือทฤษฎี )

ทักษะการตั้งสมมุติฐานที่ใช้ในการทดลองตามกระบวนการ 
1 การสังเกต
2 การวัดค่าปริมาณ 
3 การจำแนก 
4 รวบรวมข้อมูล
5 นำเสนอกระบวนการ 

รูปภาพประจำสัปดาห์ 



 คำศัพท์
Facilites                 อำนวยความสะดวก
 SPACE                  สเปส 
Triangle                 รูปสามเหลี่ยม 
Square                  รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
Rectangle              รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ประเมินอาจารย์
 อาจารย์สอนละเอียดและเข้าใจ 

ประเมินเพื่อนร่วมห้อง
เพื่อนให้ความร่วมมือในการตอบคำถามอย่างดี

ประเมินตนเอง 
ตั้งใจฟังและเข้าใจสิ่งที่ฟัง ตอบคำถามได้

บรรยากาศในห้องเรียน 
หนาวมาก เเอร์เย็นเกินไป พื้นที่ในห้องมีเพียงพอ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น